ยื่นภาษี 2566 : ทำความเข้าใจ ใครต้องเสียภาษีเท่าไหร่ ? และมีวิธีลดหย่อนอย่างไรบ้าง รวมไว้ให้แล้วที่นี่ !

ยื่นภาษีปี 2566 : สรุปข้อมูลการยื่นภาษีเงินได้ส่วนบุคคล เช็กข้อมูลเบื้องต้นและลองคำนวณภาษีได้แล้วที่นี่ !

รวมมาให้แล้วทั้งการคำนวณ เกณฑ์ผู้มีเงินได้ที่ต้องเสียภาษี รวมไปถึงการลดหย่อนภาษีด้วยวิธีต่าง ๆ

เป็นประจำทุกช่วงสิ้นปี – ต้นปีที่เราจะต้องทำการยื่นแบบเสียภาษีซึ่งปีนี้สามารถยื่นภาษีได้ถึง 9 เมษายน 2567

วนมาอีกครั้งกับช่วงการเสียภาษีประจำปี 2566 ผู้มีเงินได้ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด ๆ และได้รับเงินเดือน หรือค่าจ้างก็ตามต่างมีหน้าที่เสียภาษีแต่จะแตกต่างกันไปตามอัตราเงินได้ แล้วต้องมีเงินได้เท่าไหร่กันล่ะถึงจะต้องเสียภาษี ? วันนี้เราจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจเรื่องภาษี รวมไปถึงคำนวณภาษีส่วนบุคคลกันเบื้องต้น เพื่อให้เราเข้าใจเรื่องการยื่นภาษีเงินได้ส่วนบุคคลและสามารถวางแผนการยื่นภาษีได้อย่างถูกต้อง

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าการยื่นภาษี “ไม่ใช่” การเสียภาษี แต่เป็นการแจกแจงที่มาของรายได้ของคุณแม้รายได้ของคุณจะยังไม่เข้าเกณฑ์การเสียภาษีก็ตาม หรือสรุปก็คือ หากคุณเป็นผู้มีรายได้คุณจำเป็นต้องยื่นภาษี แล้วรายได้เท่าไหร่กันล่ะที่ต้องเสียภาษี ?

จากโครงสร้างภาษีในปัจจุบันเราจะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันได ตั้งแต่ 5-35% ซึ่งใครที่มีรายได้จากงานประจำเพียงทางเดียว หรือคนที่มีฐานเงินเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ไม่ต้องยื่นภาษี ส่วนผู้ที่มีเงินเดือนไม่เกิน 26,583 บาท ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษีเนื่องจากยังไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าหากเงินเดือนเกิน 26,583 บาทเป็นต้นไปนอกจากจะต้องยื่นภาษีแล้วต้องเสียภาษีด้วย (สามารถคำนวณหารายได้สุทธิได้จากการสูตร  “รายได้ตลอดทั้งปี – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน จะเท่ากับ รายได้สุทธิ”) ซึ่งอัตราภาษีจะแบ่งตามช่วงรายได้ดังนี้

“รายได้ตลอดทั้งปี – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน จะเท่ากับ รายได้สุทธิ”

หากคุณไม่อยากเสียเวลาในการนั่งคำนวณภาษีสามารถลองคำนวณภาษีเบื้องต้นได้จากโปรแกรมคำนวณภาษีสำเร็จผ่านเว็บไซต์ทั้งของ Set, Kasikornasset, และ Scbam

          • set.or.th

          kasikornasset.com

scbam.com

นอกจากเกณฑ์การแบ่งผู้เสียภาษีจากเงินเดือนหรือรายรับสุทธิต่อปีแล้วกรมสรรพากรยังกำหนดให้ผู้เข้าเกณฑ์เหล่านี้ต้องยื่นแบบภาษีแม้รายได้จะไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีก็ตาม ซึ่งแบ่งออกเป็น

คนโสด/ยังไม่ได้สมรส

          • กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท

• กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท

• กรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 60,000 บาท

คนมีคู่/มีคู่สมรสแล้ว

          • กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 220,000 บาท

          • กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท

          • กรณีมีเฉพาะเงินได้ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน จะต้องยื่นแบบภาษีเมื่อมีเงินได้เกิน 120,000 บาท โดยทั่วไปแล้วการยื่นแบบยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีด้วยกัน 2 แบบ คือ แบบ ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 สามารถเช็คว่าใคเราจำเป็นต้องยื่นเสียภาษีแบบไหนพิจารณาได้จาก หากคุณมีเงินเดือน โบนัส ค่าครองชีพให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ส่วนคนที่มีรายได้อื่น ๆ หรือมีทั้งเงินเดือนและรายได้อื่น ๆ ให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 สามารถตรวจสอบข้อมูลผู้เสียภาษีเบื้องต้นและทำการยื่นออนไลน์ได้ที่หน้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากร (www.rd.go.th)

การลดหย่อนภาษี

หากคุณเป็นผู้มีรายได้อยู่ในเกณฑ์ผู้ที่ต้องเสียภาษี เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องหาวิธีในการลดจำนวนเงินภาษีที่เราจำเป็นต้องจ่ายในปีนั้น ๆ ด้วยหลากหลายวิธีการซึ่งวันนี้เรารวมวิธีลดหย่อนภาษีตามเงื่อนไชการลดหย่อนต่าง ๆ มาไว้ให้คุณแล้ว

ค่าลดหย่อนพื้นฐาน

          • ค่าลดหย่อนส่วนตัว: 60,000 บาท

          • ค่าลดหย่อนคู่สมรส: 60,000 บาท (ต้องเป็นสามี-ภรรยาตามกฎหมาย โดยที่คู่สมรสต้องไม่มีเงินได้แต่หากมีเงินได้ต้องยื่นภาษีร่วมกัน)

          • ค่าลดหย่อนบุตร: 30,000 บาท ต่อบุตร 1 คน (อายุตั้งแต่แรกเกิด – 20 ปี)

          • ค่าฝากครรภ์และทำคลอดบุตร: สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท

          • ค่าลดหย่อนบิดามารดา: 30,000 บาทต่อ 1 คน สามารถนับรวมบิดา-มารดาคู่สมรสได้ สูงสุดไม่เกิน 120,000 บาท

          • ค่าลดหย่อนผู้พิการหรือทุพพลภาพ: 60,000 บาทต่อคน (ต้องมีบัตรประจำตัวผู้พิการ)

ค่าลดหย่อนเกี่ยวกับการลงทุน

         • กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กบข., สงเคราะห์ครูเอกชน: 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 500,000 บาท

         • กองทุนการออมแห่งชาติ: ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 13,200 บาท

         • กองทุน RMF: 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท

         • กองทุน SSF: 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท

          • เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม: ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 100,000 บาท

 ค่าลดหย่อนเกี่ยวกับประกันชีวิต

        • ประกันชีวิต, ประกันสะสมทรัพย์: ลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 100,000 บาท

        • ประกันสุขภาพ: ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 25,000 บาท

        • ประกันสุขภาพบิดามารดา: ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 15,000 บาท

        • ประกันชีวิตแบบบำนาญ: ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 200,000 บาท และต้องเป็นประกันที่มีความคุ้มครองมากกว่า 10 ปีขึ้นไป

        • เงินสมทบกองทุนประกันสังคม: ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 6,300 บาท

        • ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย: ลดหย่อนตามจริง ไม่เกิน 100,000 บาท

ช้อปดีมีคืน 2566

        • ลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 40,000 บาท โดยเป็นการซื้อของในร้านที่ออกใบกำกับภาษีทั่วไป 30,000 บาท และใบกำกับภาษีแบบอิเล็กทรอนิกส์ 10,000 บาท

ค่าลดหย่อนเกี่ยวกับการบริจาค

        • เงินบริจาคทั่วไป: ลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังลดหย่อน

        • บริจาคเพื่อการศึกษา, การกีฬา, การพัฒนาสังคม/โรงพยาบาลของรัฐ: จะได้รับการลดหย่อนภาษี 2 เท่าของเงินบริจาค

        • บริจาคให้พรรคการเมือง ลดหย่อนได้ตามจริง ไม่เกิน 10,000 บาท

หลังจากตรวจสอบการยื่นภาษีประจำปี 2566 ตามรายละเอียดข้างต้นแล้วหากคุณเป็นหนึ่งในคนที่เข้าเกณฑ์การเสียภาษีอย่าลืมยื่นแบบการเสียภาษีประจำปีเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกปรับเงินโดยสามารถยื่นแบบเสียภาษีได้จนถึง 9 เมษายน 2567 นี้ หรือหากคุณต้องการคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี ในการให้คำแนะนำ ช่วยยื่นแบบ หรือคำนวณภาษีสามารถใช้เลือกใช้บริการของ UnionSPACE ได้แล้ววันนี้ที่  บริการช่วยยื่นภาษีบุคคลธรรมดา หรือ บริการบัญชีและภาษีรายเดือนสำหรับบริษัท

Leave a Reply